นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทย ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการบริหาร ประจำปี 2558-2560 ได้ดำเนินงานตามแนวทางการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มีการผลักดันให้นำระบบประกันภัยที่ภาคเอกชนมีกลไกที่เข้มแข็งเข้ามาบริหารความเสี่ยงในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ส่งผลให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตสูงขึ้น ที่สำคัญเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งโครงการประกันภัยผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างหลักประกันให้กับประชาชน การประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย รวมถึงการประกันภัยสุขภาพข้าราชการ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้มีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการประกันภัยในประเทศ โดยการเสนอให้นำเบี้ยประกันภัยสุขภาพมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนทั่วไป และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าของไทยมีมาตรการจูงใจด้านภาษีโดยการนำเบี้ยประกันภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทยต่อการทำประกันวินาศภัยไทยมากขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในธุรกิจประกันวินาศภัยมีความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สำหรับผลงานสำคัญของสมาคมฯ คือ การบริหารจัดการสินไหมทดแทน กรณีการเกิดมหาอุทกภัย เมื่อปี 2554สมาคมฯ และภาคธุรกิจประกันวินาศภัยได้ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบการประกันภัยนั้นสามารถรองรับความเสี่ยงภัยได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมีศักยภาพในการจัดการสินไหมทดแทนขนาดใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยของไทยว่ามีความน่าเชื่อถือและมีความมั่นคงแข็งแรงบริษัทประกันวินาศภัยได้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าค่าเสียหายที่ธุรกิจประกันภัยจะต้องจ่ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย แต่จากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ธุรกิจประกันภัยสามารถพลิกฟื้นสถานะทางการเงินได้อย่างรวดเร็วทำให้สามารถเดินหน้าทำธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป สำหรับ ปี 2559 ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาคมฯ คือ การได้รับรางวัลสมาคมการค้ายอดเยี่ยม ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับสมาคมการค้าที่มีความเป็นเลิศในทุกด้าน ในกลุ่มสมาคมที่จดทะเบียนเกินกว่า 16 ปีขึ้นไปซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของสมาคมฯ เป็นอย่างมากเพราะเป็นรางวัลสูงสุดและเป็นรางวัลแรกจากการเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ สมาคมฯ คาดหวังให้ภาครัฐส่งเสริมด้านการประกันภัย นายอานนท์ เปิดเผยต่อไปว่า ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2559 ว่าธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยด้านต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยของปี 2559นี้ มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 211,813 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของการประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 74,124 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.38 ประกอบด้วย ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (12.48%) อุบัติเหตุส่วนบุคคล (6.57%) สุขภาพ (1.57%) และอากาศยาน พืชผลและอื่นๆ (6.58%) จะเห็นได้ว่า ปี2559 นี้การประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีอัตราการขยายตัวที่ดีและน่าจะเป็นตัวที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้อีกต่อไป ขณะที่การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 5,268 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.43 และการประกันอัคคีภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจำนวน 10,233 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 2.36 ด้านการประกันภัยรถปี 2559 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 122,188 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.57 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 16,680 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.72 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ105,508 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.39 สำหรับปริมาณรถใหม่ที่จดทะเบียนตามกฎหมายตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2559จำนวน 2,872,026 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ปี 2559 จำนวน 768,788 คัน ลดลงร้อยละ 4 แม้ว่ายอดขายรถมีปริมาณลดลงแต่การประกันภัยรถยนต์ยังคงมีการแข่งขันสูงประกอบกับมีอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) สูงถึง 63% ดังนั้นผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายและราคาเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และให้ความสำคัญเรื่องของการบริการลูกค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการ และการนำดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบประกันภัยทั้งการรับประกันภัยและการเคลมให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงวัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย ในปี 2560 และส่งสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2560 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 218,000-220,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 3-4 ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ จากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการส่งเสริมการประกันภัยของภาครัฐในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงนั่นเอง |
Bank & Insurance >