Government
สหฟาร์ม ร่วมลงนาม MOU กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สหฟาร์ม ร่วมลงนาม MOU กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ทำ MOU ทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมเสริมทักษะประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา และวิจัยไก่พื้นเมืองลูกผสมสามสายเลือดโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นางสาวจารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายบัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นตัวแทน ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด เป็นผู้แทนลงนามของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ได้มีคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Smart classroom ชั้น 2 อาคาร 25 ปี ธุรกิจการเกษตร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อร่วมมือในด้านวิชาการวิจัย ส่งเสริมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา |
คต. เดินหน้าตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าเฝ้าระวัง
คต. เดินหน้าตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าเฝ้าระวัง กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เดินหน้าตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ก่อนออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบทั่วไป หรือ Form CO ทั่วไป สำหรับส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถูกใช้เป็นแหล่งในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเอกสารที่ใช้แสดงต่อศุลกากรประเทศปลายทาง เพื่อให้ทราบว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ 1) Form CO FTA สามารถนำไปขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ได้ และ 2) Form CO ทั่วไป ใช้เป็นเอกสารรับรองประกอบการนำเข้าตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าปลายทาง แต่ไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานศุลกากรประเทศปลายทางมีการตรวจสอบย้อนหลังความถูกต้องของหนังสือรับรองฯ Form CO ทั่วไป เพิ่มมากขึ้น โดยผลการตรวจสอบพบว่า สินค้าไม่ได้ถิ่นกำเนิดไทยแต่เป็นการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยเพื่อหลบเลี่ยงการถูกดำเนินมาตรการทางการค้าจากประเทศปลายทาง เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เป็นต้น คต. จึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการออก Form CO ทั่วไป เพื่อป้องกันการสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้า โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด (สินค้าเฝ้าระวัง) ขณะนี้มีทั้งสิ้น 42 รายการสินค้า เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอ Form CO ทั่วไป ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มความเข้มงวดดังกล่าวเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2565) คต. ได้ดำเนินการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า และจัดส่งเอกสารผลการตรวจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้น 492 ฉบับ แบ่งเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดไทย จำนวน 486 ฉบับ ได้แก่ ส่วนประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ จักรยาน และจักรยานไฟฟ้า และโซลาร์โมดูล เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิดไทยของผู้ประกอบการบางราย มีจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ รถจักรยานสองล้อ จักรยานไฟฟ้า ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ล้ออัลลอย และดุมล้อ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าในพิกัดศุลกากรเดียวกันกับสินค้าที่ส่งออก ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศปลายทาง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า คต. ได้มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่ออก Form CO ทั่วไป อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยได้จัดส่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ผลการตรวจพบว่าไม่ได้ถิ่นกำเนิดไทยให้แก่ทั้งสองหน่วยงานทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form CO ทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายการสินค้าเฝ้าระวังที่ต้องยื่นตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าทั้ง 42 รายการ ได้ที่ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเฝ้าระวัง พ.ศ. 2565 หรือ scan QR code ด้านล่างนี้ และติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 02-5474808 และ 02-5475132 หรือทาง E-mail: cost-for-co@dft.go.th รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook: กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด |
‘พาณิชย์’ พร้อมจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ผลักดันการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน
‘พาณิชย์’ พร้อมจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ผลักดันการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ‘กระทรวงพาณิชย์’ พร้อมเป็นประธานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (AMM) 16-17 พ.ย. นี้ มุ่งขับเคลื่อนผลการดำเนินงานในช่วงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย เน้น BCG Economy Model แนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ก่อนชงผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในห้วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ในวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน 2565 เริ่มจากในช่วงค่ำของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 จะมีงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศเอเปคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุม และในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นการประชุม AMM เต็มวัน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) จะเป็นประธานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) โดยช่วงเช้าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth) ซึ่งเน้นการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และในการประชุมช่วงกลางวัน (Working Lunch) จะเป็นหัวข้อ“การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค”(Reconnecting the region) เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วม นางอรมน เสริมว่า สำหรับวาระของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ประธานการประชุม ในหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” (Open and Sustainable Trade and Investment) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคได้หารือและแลกเปลี่ยนแนวคิดหรือนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ที่สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าที่เปิดกว้าง และมีการพัฒนา/เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) บันทึกภาพและเสียงบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหารือกันในประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างเปิดกว้างและยั่งยืนของเอเปค เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ยังคงเป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีพลวัตและเชื่อมโยงระหว่างกันมากที่สุดของโลก นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จะมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจ เช่น การประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ APEC Digital Prosperity Award เพื่อมอบรางวัลด้านการพัฒนา Mobile Application ที่เป็นเครื่องมือด้านนวัตกรรมในการพัฒนาการเติบโตอย่างครอบคลุมและมั่งคั่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร โดยต่อยอดผ่านการคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันการพัฒนา Mobile Application ของการประกวด APEC App Challenge เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ขณะเดียวกัน ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะได้หารือสองฝ่ายกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของสมาชิกเอเปค ซึ่งอยู่ระหว่างนัดหมาย และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จากเดิมที่มีความตกลงการค้าเสรี ไทย – ออสเตรเลีย ระหว่างกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ (โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) จะร่วมจัดนิทรรศการ BCG Journey เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวความสำเร็จในการขับเคลื่อนโมเดล BCG Economy ของไทย ในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยให้เห็นภาพว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิม ๆ ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งนิทรรศการนี้จะอิงแนวคิดหลักของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และ (4) การจัดการขยะ |
เล็งปั้นเป็นอันดับ 1 ของโลก ”จุรินทร์” จับคู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง
เล็งปั้นเป็นอันดับ 1 ของโลก ”จุรินทร์” จับคู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง เปิดมหกรรม Pet Fair SE ASIA 2022 ครั้งแรกในไทย 26-28 ต.ค.นี้ที่ไบเทค โชว์ฝีมือ 9 เดือนแรกปีนี้ส่งออกเฉพาะ"อาหารสัตว์เลี้ยงกว่า 75,000 ลบ." โต 37 เดือนต่อเนื่อง วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน Pet Fair SE ASIA 2022 และงานเปิดตัวสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย พร้อมด้วยพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ประธานหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่ Hall 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยงานจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค. 2565 นายจุรินทร์ กล่าวว่า งาน Pet Fair South East Asia (SEA) 2022 และเปิดตัวสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยวันนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงถือเป็นสินค้าดาวรุ่งของประเทศไทยที่นำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ประมาณปีละ 65,000 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.65) สามารถทำเงินให้ประเทศแล้ว 75,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงที่ผ่านมาทั้งปี เป็น +34.4% ขยายตัว 37 เดือนต่อเนื่อง 3 ปีเต็ม ประเทศไทยเราเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมันและอเมริกา สนองต่อตลาดทั้งระดับกลางและระดับบนได้เป็นอย่างดี เพราะอาหารสัตว์เลี้ยงไทยมีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัยและระบบการผลิตที่สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ functional food ที่สามารถส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงเฉพาะทาง เป็นพัฒนาการของอาหารสัตว์เลี้ยงไทยที่สนองตอบต่อความต้องการของตลาดโลกและผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วโลกที่รักสัตว์เลี้ยงเสมือนบุคคลในครอบครัวของตนเอง การจัดงาน Pet Fair South East Asia (SEA) 2022 ครั้งนี้ถือเป็นการจัดครั้งแรกและมีกิจกรรมเพิ่มเติมคือการเจรจาธุรกิจซึ่งถือเป็นงานเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดขึ้น มีผู้เข้าร่วม 150 บริษัท 35 ประเทศ 3 วันคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย สร้างมูลค่าซื้อขายทันทีไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท “และวันนี้สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยถือว่าเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการนับจากก่อตั้งเมื่อปี 2562 ขอแสดงความชื่นชมกับความสำเร็จในการรวมตัวกันของผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงไทยและขอขอบคุณที่สมาคมทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาและส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงมาโดยตลอด ด้วยการทำงานใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนภายใต้หลัก “รัฐหนุนเอกชนนำ” ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงตามเป้าหมาย ตนมั่นใจว่าในอนาคตไม่นานประเทศไทยมีสิทธิ์จะเป็นอันดับ 1 ของโลกในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง โดยปีต่อไปเราจะพัฒนางานอาหารสัตว์เลี้ยง Pet Fair เป็นการจัดงาน Fair ระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพยิ่งขึ้น โดยการร่วมมือกันระหว่างสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยและกระทรวงพาณิชย์ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นและเป็นงานระดับภูมิภาคเป็นงานระดับโลกต่อไปในอนาคตสำหรับปีหน้าเป็นต้นไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 74,975.65 ล้านบาท (+34.41%) ตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 21,520.36 ล้านบาท (+59.11%) ญี่ปุ่น 8,411.20 ล้านบาท (+6.56%) และอิตาลี 4,821.45 ล้านบาท (+ 52.59%) สินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว 65,279.63 ล้านบาท (+41.05%) อาหารสัตว์ อื่นๆ 9,696.02 ล้านบาท (+2.06%) สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 |
รมช.สินิตย์ เปิด 10 ธุรกิจดาวเด่น..ส่งท้ายปลายปี 2565
รมช.สินิตย์ เปิด 10 ธุรกิจดาวเด่น..ส่งท้ายปลายปี 2565 รมช.สินิตย์ เปิด 10 ธุรกิจดาวเด่นส่งท้ายปลายปี 2565 ส่วนใหญ่สอดรับกับการเปิดประเทศ ความสนใจดูแลสุขภาพผู้บริโภค และพฤติกรรมรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ มูลค่าตลาดรวม 2,018,062.10 ล้านบาท คาดปี 2566 ธุรกิจดังกล่าวยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง แนะ!!! ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง การลงทุนมีความเสี่ยง ยุคนี้...ทำธุรกิจต้องรอบคอบมากที่สุด นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และมีการลดระดับโรคโควิด-19 จาก โรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้ง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกลับมาสดใสคึกคักอีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองปลายปี 2565 จำนวน 10 ธุรกิจ และคาดว่า ปี 2566 ธุรกิจดังกล่าวก็ยังคงมีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ ข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ รมช.พณ.กล่าวต่อว่า 10 ธุรกิจ ที่น่าสนใจและมีความโดดเด่นช่วงปลายปี 2565 สามารถจัดประเภทธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับปัจจัยการเปิดประเทศ ได้แก่ 1) ธุรกิจร้านอาหาร 2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง 3) ธุรกิจผับบาร์และสถานบริการกลางคืน และ 4) ธุรกิจ MICE ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเปิดประเทศ และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อีกทั้ง ฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของประเทศในช่วงสิ้นปี ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ของปี 2565 พบว่า 1) ธุรกิจร้านอาหาร มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 2,288 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 59.67 2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 722 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 261 เท่า 3) ธุรกิจผับบาร์ สถานบริการกลางคืน มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 102 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 200 เท่า และ 4) ธุรกิจ MICE มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 1,202 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 10.17 กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับการหันมาดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ได้แก่ 5) ธุรกิจขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ 6) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม และ 7) ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น และมีความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร สารสกัดหอมแดงในรูปแบบนาโน (HomHom Balm Gel) โดยมีการเติบโตของการส่งออกสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนของกลุ่มธุรกิจนี้ ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2565 พบว่า 5) ธุรกิจขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 33 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึง 200 เท่า นอกจากนี้ในปี 2564 ธุรกิจนี้ยังมีกำไรสูงถึง 155.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2 6) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 506 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 1 เท่า มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 1,270.08 ล้านบาท และ 7) ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 245 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 57 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 620.20 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการเติบโตสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ได้แก่ 8) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ที่นิยมซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์แทนการซื้อสินค้าหน้าร้าน 9) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่ให้ความสะดวก ง่าย และรวดเร็ว ตอบสนองวิถีชีวิตในรูปแบบปัจจุบัน และ 10) ธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยสร้างมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงรูปแบบอื่น เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนของกลุ่มธุรกิจนี้ ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า 8) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) มีการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 1,214 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 12.51 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 13.83 นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าวยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้สูงถึง 135,856.52 ล้านบาท 9) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 1 เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.7 เท่า และ 10) ธุรกิจยานยนต์ มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 1.26 เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 133 เท่า สอดคล้องกับธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลที่กว่าร้อยละ 60 ของนิติบุคคลจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจดาวเด่น 10 ธุรกิจ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2,018,062.10 ล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 55,612 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 474,274.66 ล้านบาท คาดว่าปี 2565 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลถึงปี 2566 อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ขอแนะนำว่า ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ 10 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย #SuperDBD ********************************************** |
พาณิชย์” ลงนาม MOU “SHOPEE” ลุยอีคอมเมิร์ซอาเซียน ดันรายย่อยขายออนไลน์ไปต่างประเทศมากขึ้น
พาณิชย์” ลงนาม MOU “SHOPEE” ลุยอีคอมเมิร์ซอาเซียน ดันรายย่อยขายออนไลน์ไปต่างประเทศมากขึ้น นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานลงนาม MOU ระหว่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จํากัด ภายใต้เครือ Sea (ประเทศไทย) ในการร่วมมือ ด้านการส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หวังดันผู้ประกอบการรายย่อยของไทยกว่า 50,000 ราย ขายออนไลน์ไปต่างประเทศและสร้างมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทใน 3 ปี ![]() นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายหลักของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการเร่งผลักดันภาคการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในทุกระดับก้าวสู่การค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้เร่งสร้างเครือข่ายการค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างพาร์ทเนอร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ โดยความร่วมมือกับแพลตฟอร์มช้อปปี้ที่เป็นแพลตฟอร์มชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยสามารถส่งออกสินค้าไทยผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้โดยผู้ประกอบการเปิดเพียงแค่ 1 ร้านค้าบนช้อปปี้ประเทศไทย จะสามารถขายสู่ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ได้ ตลอดจนมี การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเสริมกลยุทธ์ด้านการขายได้อย่างยั่งยืน “ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้โปรโมทร้านค้าของผู้ประกอบการผ่านแคมเปญ “TOPTHAI” หรือ “หน้าร้านค้าออนไลน์ของกรม” ที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าไทยท่ามกลางสินค้านานาชาติ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อและนำมาสู่ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยมีแคมเปญที่หลากหลายได้แก่ คูปองส่วนลดและคูปองฟรีค่าจัดส่งให้กับนักช้อป รวมทั้งการปักหมุดร้าน TOPTHAI ไว้ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้งานมองเห็นได้ตั้งแต่หน้าแรก ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการชาวไทยโดยเฉพาะ รายย่อยกว่า 50,000 ราย ให้สามารถขึ้นขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ เพื่อสร้างยอดขายกว่า 300 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว ![]() นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “Sea (ประเทศไทย) และ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายช่องทางการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น ผ่านโปรแกรม Shopee International Platform (SIP) ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและลดอุปสรรค์ในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ โดยการร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ จะมุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย เพิ่มการรับรู้และโอกาสการเข้าถึงสินค้าไทย และการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ที่จะสามารถส่งออกได้อย่างสะดวกผ่านแพลตฟอร์มช้อปปี้” ร้านค้าที่เข้าร่วมโปรแกรม “Shopee International Platform (SIP)” จะได้รับการสนับสนุนจากช้อปปี้ในด้านการจัดการร้านค้า เช่น การสร้างร้านค้าในต่างประเทศ การจัดการสินค้าและสต็อก การแชทกับผู้ซื้อ และการจัดส่งไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ในระยะเริ่มต้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ขายชาวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรม “Shopee International Platform (SIP)” สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://seller.shopee.co.th/edu/article/12122 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “กรมฯ มีความ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับช้อปปี้ โดยร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มช้อปปี้นับเป็นร้านลําดับที่ 7 แล้ว จากก่อนหน้านี้ได้เปิดแล้วบน 6 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Bigbasket.com (ตลาดอินเดีย) Tmall China (ตลาดจีน) Amazon (ตลาดอเมริกา) PChome Thai (ไต้หวัน) Klangthai (ตลาดกัมพูชา) และ Blibli (ตลาดอินโดนีเซีย) สามารถสร้างมูลค่ารวมกันได้กว่า 505 ล้านบาท” ทั้งนี้ โครงการ TOPTHAI Store คือ ร้านค้าออนไลน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดอยู่บนแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนําในตลาดเป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักใน การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางออนไลน์ข้าม พรมแดนระดับสากล ซึ่งจุดแข็งของร้าน TOPTHAI คือ เป็นร้านค้าที่จําหน่ายสินค้าคุณภาพจากไทยซึ่งผ่านการคัดสรรจากหน่วยงานรัฐบาลทําให้เชื่อมั่นได้ว่า สินค้าจากร้าน TOPTHAI จะเป็นสินค้าคุณภาพดีจากไทย |
กคช. จัด OPEN HOUSE เปิดบ้าน “บมจ.เคหะสุขประชา” พร้อมเปิดตัวผู้ถือหุ้น ผนึกแรงสร้างบ้านเช่าพร้อมอาชีพเต็มกำลัง
กคช. จัด OPEN HOUSE เปิดบ้าน “บมจ.เคหะสุขประชา” พร้อมเปิดตัวผู้ถือหุ้น ผนึกแรงสร้างบ้านเช่าพร้อมอาชีพเต็มกำลัง การเคหะแห่งชาติ เปิดบ้าน OPEN HOUSE บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) พร้อมเปิดตัวผู้ถือหุ้นอย่างเป็นทางการ เผยความคืบหน้าบ้านเช่าพร้อมอาชีพ 100,000 หน่วย พร้อมระดมทุนจากภาคเอกชนกว่า 60,000 ล้านบาท ด้วยแนวคิดสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานในมิติ “มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ – มีความสุข" ให้ผู้อยู่อาศัยมีที่พัก มีอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า บมจ.เคหะสุขประชา ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานในโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” เกิดความคล่องตัวและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ตามเป้าหมายให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง พร้อมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง และสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี “ภารกิจของเคหะสุขประชารุดหน้าอย่างรวดเร็วด้วยการร่วมมือกันของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงกลุ่ม ผู้ถือหุ้น ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนให้ความสำคัญกับการสร้างที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบาย สะอาด และปลอดภัย โดยได้ดำเนินการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ควบคู่ขนานไปกับโครงการ ให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในแบบ มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ - มีความสุข” ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และประธานกรรมการ บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บมจ.เคหะสุขประชา มีการเคหะแห่งชาติ ถือหุ้นใหญ่จำนวน 49.0% และกลุ่มผู้ถือหุ้นอีก 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 25.0%, บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) 11.0%, บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด 5.0%, บริษัท แฟคซิลิตี้ แมนเนจเมนท์ จำกัด 5.0%, บริษัท มหาจักร อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด 2.5% และบริษัท แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2.5% โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนจากการเคหะแห่งชาติ 245 ล้านบาท และเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ 255 ล้านบาท ทั้งนี้งบการสร้าง “เคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” จะเป็นการระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งหมด รวมกว่า 60,000 ล้านบาท โดยทางเคหะสุขประชา ได้แต่งตั้ง บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางด้านการระดมทุนดังกล่าวด้วย สำหรับเป้าหมายของการดำเนินงานก่อสร้างโครงการบ้านเคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพจำนวน 100,000 หน่วย จะใช้เวลาดำเนินงานภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงปี 2568 โดยมีเป้าหมายการก่อสร้างแบ่งเป็นปี 2565-2566 ปีละ 30,000 หน่วย และปี 2567-2568 ปีละ 20,000 หน่วย และยังมีการส่งมอบบ้านเป็นโครงการนำร่องแล้ว ในโครงการ “บ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง” จำนวน 302 หน่วย ตามด้วยโครงการ “บ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า” จำนวน 270 หน่วย ในอัตราเช่าที่ 1,500 - 3,500 บาท/เดือน ทั้งนี้ โครงการบ้านเคหะสุขประชายังมีการสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนาน ในมิติของ “มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ - มีความสุข" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย ให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ รวมถึงพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย 6 รูปแบบ คือ เกษตรอินทรีย์, ปศุสัตว์, ตลาด,ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง, อาชีพบริการในชุมชนและชุมชนข้างเคียง และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มุ่งส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ ที่เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย “โครงการบ้านเคหะสุขประชาเดินหน้าขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว จากนโยบายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มั่นใจว่าสังคมที่ดีจะเริ่มต้นขึ้นที่ บ้าน ในครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งบ้านเช่าทั้ง 100,000 หน่วยในโครงการ จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ได้พักอาศัยในที่อยู่ที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังสามารถพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน” นายทวีพงษ์ สรุปทิ้งท้าย |
งาน SME –GP Day 19-21 ส.ค. 2565 ฟังเสวนาพิเศษ เจรจาจับคู่ธุรกิจ บริการให้คำปรึกษา สู่โอกาสเข้าถึง จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ !
เชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน SME –GP Day 19-21 ส.ค. 2565 ฟังเสวนาพิเศษ เจรจาจับคู่ธุรกิจ บริการให้คำปรึกษา สู่โอกาสเข้าถึง จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ! สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เชิญชวนผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงาน “SME - GP Day” รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย เปิดโอกาสใหม่ในการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายดายยิ่งขึ้น โดยภายในงานรวบรวมสินค้าและบริการมากมายกว่า 100 บูธ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐที่นำมาตรการสนับสนุนให้ MSME เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บริการให้คำแนะนำปรึกษา และพบกับบริการดี ๆจากธนาคารชั้นนำ โชว์เคสต้นแบบการพัฒนาสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน กิจกรรม Business Matching เชื่อมโยงคู่ค้าและพันธมิตรกับผู้ประกอบการ ให้เข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พลาดไม่ได้กับเสวนาพิเศษ “1 Click” Join Us The Biggest E Procurement for MSME และการอบรมสัมมนาอัดแน่นจัดเต็มตลอดงาน เข้าร่วมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย วันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 6 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-1054778 ต่อ 6000 (คุณกนกวรรณ) Line Official : @thaisme-gp |
ธอส. คว้า 99.92 คะแนน ผลประเมิน ITA ปี 2565 สูงที่สุดอันดับหนึ่งในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 6 ปีต่อเนื่อง
ธอส. คว้า 99.92 คะแนน ผลประเมิน ITA ปี 2565 สูงที่สุดอันดับหนึ่งในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 6 ปีต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งผลปรากฏว่า ธอส. ได้ 99.92 คะแนน สูงสุดตั้งแต่เข้าร่วมประเมิน และ สูงที่สุดอันดับ 1 ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สะท้อนการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐชั้นนำของประเทศไทยที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการและการดำเนินงานในทุกมิติที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม พัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ประชาชน และบุคลากรภายในองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งผลปรากฏว่า ธอส. ได้ผลประเมินที่ 99.92 คะแนน อยู่ในระดับ AA ถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดอันดับ 1 ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จากหน่วยงาน ภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน 8,303 หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และถือเป็นคะแนนสูงที่สุดที่ธนาคารได้รับนับตั้งแต่เข้าร่วมประเมิน ITA เมื่อปี 2557 ซึ่งนับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของธนาคาร ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” สะท้อนการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทยที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการและการดำเนินงานในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล มีความโปร่งใส และเป็นธรรม พัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ประชาชนรวม ถึงบุคลากรภายในองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือกันของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง พนักงานและผู้ปฏิบัติงานทั้งองค์กรมากกว่า 5,000 คน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม อาทิ ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ คู่ความร่วมมือ ผู้ให้บริการภายนอก สังคมและชุมชน สื่อมวลชน และหน่วยงานกำกับฯ ที่มีความมั่นใจและให้การยอมรับว่า ธอส. ดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จของ ธอส. จนนำมาสู่คะแนนสูงที่สุดในปี 2565 มีทั้งสิ้น 8 Key Success Factors ประกอบด้วย 1.Leadership ผู้นำมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน บริหารงานอย่างมีธรรมมาภิบาล เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ 2.Employee Awareness & Engagement สร้างการรับรู้ และเพิ่มขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานด้วยความทุ่มเท ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความรักและผูกพันต่อองค์กร เพื่อให้องค์กรเจริญก้าวหน้า 3.Digitized Communication การสื่อสารแบบดิจิทัลที่มีความรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ เหมาะกับสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นการสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบทิศทาง นโยบายต่าง ๆ ของธนาคาร และปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน 4.Participation ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกกลุ่มของธนาคารมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5.Technology นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการการทำงาน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ให้สอดรับกับยุค New Normal ทำให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว และลดขั้นตอนการทำงาน 6.Learning เรียนรู้จากผลการประเมินในปีที่ผ่านมา โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และทันต่อสถานการณ์ โดยนำหลักการของ 3 Lines of Defense มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ 7.Agility ปรับตัวและตอบสนอง ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว สร้าง Mindset ใหม่เพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็ว และคล่องตัว ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนในองค์กรรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารประสบความสำเร็จ 8.Resilience ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากปัญหาหรือวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การแพร่รระบาดของ COVID-19 แต่ธนาคารสามารถก้าวผ่านวิกฤติได้ดีและรวดเร็วด้วยผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ที่พร้อมรับมือกับปัญหา และหาโอกาสใหม่ในระหว่างเกิดวิกฤติ หรือหลังวิกฤติ รวมถึงความมีประสิทธิภาพของระบบการปฏิบัติงาน ที่ทำให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องฝ่ายสื่อสารองค์กร |
"จุรินทร์” นำทีมเอกชนไทยลุยเมือง”ครอยดอน” (Croydon) ของ UK
เฉียบ!!!“จุรินทร์” นำทีมเอกชนไทยลุยเมือง”ครอยดอน” (Croydon) ของ UK เซ็น MOU ขายของให้อังกฤษรวดเดียว 4,600 ล้านบาท ทั้งไก่ ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรสและอาหารทะเลแปรรูป พร้อมอินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ชื่อดังร่วมโปรโมทอาหารไทย ที่ห้าง Wing Yip สหราชอาณาจักร วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 8.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทย–สหราชอาณาจักร และเป็นประธานเปิดงานและเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ห้าง Wing Yip สาขาครอยดอน(Croydon) สหราชอาณาจักร วานนี้ วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เวลา 17.00 น.(เวลาในประเทศไทย 23.00 น.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทย และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหราชอาณาจักร จำนวน 3 กิจกรรม ในช่วงการเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าไทย-สหราชอาณาจักร ณ สหราชอาณาจักร โดยกิจกรรมแรก เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการไทยไปยังตลาดสหราชอาณาจักร ที่ห้าง Wing Yip สาขา Croydon โดย 1.บริษัท C.P. Trading Group co., Ltd. ลงนามกับบริษัท Manning Impex Ltd สินค้าข้าวหอมมะลิและอาหาร คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 350 ล้านบาท 2. บริษัท Alisa Inter Co., Ltd. กับบริษัท Thai Tana Ltd. สินค้าอาหารและเครื่องปรุงรส คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 150 ล้านบาท และ 3. บริษัท CPF Co., Ltd. กับ Westbridge Food Group สินค้าไก่แปรรูป คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 4,000 ล้านบาท 4.บริษัท Thai Tana Ltd. กับ บริษัท ท่าเรือมารีน สินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 100 ล้านบาท กิจกรรมที่ 2 เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอาหารไทยร่วมกับห้าง Wing Yip ในตลาด สหราชอาณาจักร โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 -28 มิ.ย.2565 มีกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย ได้แก่ ข้าวเหนียว มะม่วง ในวันที่ 21 มิ.ย.2565 เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยให้แก่ผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักร รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการสาธิตการปรุงอาหารไทย การจัดแสดงสินค้าไทยจากผู้นำเข้าสหราชอาณาจักร สำหรับบริษัท Wing Yip เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายปลีก/ส่ง สินค้าอาหารจากเอเชีย ได้แก่ จีน ไทย ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และอินเดีย มีสินค้าทั้งหมดกว่า 4,500 ชนิด บริษัทฯ เปิดทำการมากว่า 40 ปี ปัจจุบันมีพนักงาน กว่า 300 คน มีร้านค้าปลีกของบริษัทเองชื่อ Wing Yip จำนวน 4 สาขา ในกรุงลอนดอน 2 สาขา (Croydon และ Cricklewood), เมือง Birmingham 1 สาขา, และ Manchester 1 สาขา อีกทั้ง มีการขายสินค้าในเว็บไซต์ของ บริษัทฯ (www.wingyip.com) โดยการจัดกิจกรรมร่วมกับห้าง Wing Yip ในครั้งนี้ คาดว่าจะผลักดันให้การนำเข้า สินค้าไทยของห้างฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ในปี 2566 กิจกรรมที่ 3 เป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT และสินค้าอาหารไทยร่วมกับ influencer ในตลาดสหราชอาณาจักร เพื่อกระตุ้นการบริโภคอาหารไทย สร้างการรับรู้อาหารไทย และกระตุ้นให้เกิดการซื้ออาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ในยุโรปจำนวน 327 แห่ง จาก 1,500 แห่งทั่วโลก (ข้อมูล ณ มิ.ย.65) ทั้งนี้ ปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดยสินค้าอาหารยังคงเป็น สินค้านำเข้าอันดับ 1 จากประเทศไทย โดยในปี 2564 สหราชอาณาจักร นำเข้าสินค้าไก่แปรรูปจากไทย คิดเป็น มูลค่า 15,358.47 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 14.01 ส่วนสินค้าอาหารไทยและร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมและขยายตัวสูงในตลาดสหราชอาณาจักร ได้แก่ อาหาร เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผักสด ผลไม้ Future Food โดยเฉพาะ Plant Based Food และบริการ ได้แก่ ร้านอาหารไทย และร้านสปาไทย เป็นต้น ผู้สื่อข่าวระบุว่าภายในงานมีอินฟลูเอนเซอร์ millykr และ london. by.kseniia ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ประเทศอังกฤษด้านอาหารและการท่องเที่ยว และยังมีเชฟ Yui Miles เชฟไทยจากรายการมาสเตอร์เชฟ UK มาสาธิตการทำข้าวเหนียวมะม่วงโดยนายจุรินทร์ ได้เข้าร่วมทำเมนูข้าวเหนียวมะม่วงและแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมงานได้ชิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีว่ามีรสชาติที่อร่อย สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 |
1-10 of 199