Government‎ > ‎

การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

posted Dec 21, 2017, 7:08 PM by Maturos Lophong

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน พฤศจิกายน 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลการจดทะเบียนธุรกิจเดือนพฤศจิกายน


ธุรกิจจัดตั้งใหม่

• จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 6,597 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 จำนวน 6,003 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 594 ราย คิดเป็น 10% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 5,799 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 798 ราย คิดเป็น 14%

• ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 749 ราย คิดเป็น 11% รองลงมาคือธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 637 ราย คิดเป็น 10% และธุรกิจร้ายขายปลีกเครื่องประดับ (ร้านขายทอง) จำนวน 224 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

• มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,462 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 จำนวน 39,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 28,739 ล้านบาท คิดเป็น 72% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 16,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 52,458 ล้านบาท คิดเป็น 328%

• ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 6,015 ราย คิดเป็น 91% รองลงมา คือทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 447 ราย คิดเป็น 7% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 135 ราย คิดเป็น 2% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 6 ราย ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 5 ราย และธุรกิจบริหารงานและการวางแผนธุรกิจให้กับบริษัทในเครือ จำนวน 1 ราย รวมมูลค่าทุนทั้งสิ้น 10,610 ล้านบาท

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่

• ธุรกิจจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 พ.ย. 60) จำนวน 1,428,523 ราย มูลค่าทุน 21.95 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 679,805 ราย มูลค่าทุน 16.06 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,253 ราย คิดเป็น 26.66 % บริษัทจำกัด 497,375 ราย คิดเป็น 73.17% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,177 ราย คิดเป็น 0.17%

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ

• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่มีจำนวนทั้งสิ้น 679,805 ราย มูลค่าทุน 16.06 ล้านล้านบาท โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 600,959 ราย คิดเป็น 88% มูลค่าทุน 0.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4% รองลงมา คือทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 65,069 ราย คิดเป็น 10% มูลค่าทุน 1.74 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 13,777 ราย คิดเป็น 2% มูลค่าทุน 13.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83% ตามลำดับ

• จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,306 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,797 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 509 ราย คิดเป็น 28% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 2,397 ราย ลดลงจำนวน 91 ราย คิดเป็น 4%

• ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป จำนวน 218 ราย คิดเป็น 10% รองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 113 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจค้าสลาก จำนวน 71 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

• มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,518 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 10,030 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,512 ล้านบาท คิดเป็น 25% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 8,229 ล้านบาท ลดลงจำนวน 711 ล้านบาท คิดเป็น 9%

• ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 2,189 ราย คิดเป็น 94.93% รองลงมา คือทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 110 ราย คิดเป็น 4.77% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 7 ราย คิดเป็น 0.30% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย ได้แก่ธุรกิจโรงแรม /ภัตตาคาร

การคาดการณ์ตลอดปี 2560

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา มกราคม - พฤศจิกายน 2560 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 68,212 ราย มีมูลค่าทุนทั้งสิ้น 372,706 ล้านบาท เห็นได้ว่ามีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 8,334 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับ มกราคม – พฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 59,878 ราย จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งธุรกิจในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากภาคเอกชนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ “ช้อปช่วยชาติ” ให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการช่วงปลายปี 2560 (ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560) ซึ่งจะ ส่งผลดีให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ โดยธุรกิจที่ได้รับผลจากมาตรการนี้ คือธุรกิจค้าปลีก สินค้าและบริการ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูง ติดอันที่ 1 และ 2 อย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยังส่งผลดีในเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง กรมจึงคาดการณ์ว่าจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% หรือจะมีจำนวนสูงกว่า 70,000 ราย

สถานการณ์การธุรกิจในปี 2559

• ผลประกอบการแบ่งตามขนาดธุรกิจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินปี 2559 ที่ธุรกิจนำส่งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 492,131 ราย พบว่า เป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนเป็นบวก จำนวน 298,028 ราย คิดเป็น 61% และเมื่อพิจารณาผลประกอบการของแต่ละขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก จำนวน 472,499 ราย มีผลตอบแทน เป็นบวก คิดเป็น 60% ธุรกิจขนาดกลาง จำนวน 11,659 ราย มีผลตอบแทนเป็นบวก คิดเป็น 62% และธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวน 7,973 ราย มีผลตอบแทนเป็นบวก คิดเป็น 70% ซึ่งจะเห็น ได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนของธุรกิจที่มีผลกำไรสูงกว่าธุรกิจขนาดอื่น


• ผลประกอบการแบ่งตามประเภทธุรกิจ เมื่อวิเคราะห์ธุรกิจโดยดูจากผลประกอบการตามประเภทธุรกิจ พบว่า ประเภทธุรกิจที่ผลตอบแทนเป็นบวกสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจโฮลดิ้ง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม และในส่วนของประเภทธุรกิจที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจทำเหมืองถ่านหินคุณภาพสูง ธุรกิจทำเหมืองสินแร่โลหะ และธุรกิจผลิตยางแผ่นและยางแท่ง

• ผลประกอบการแบ่งตามช่วงอัตรากำไรสุทธิ เมื่อวิเคราะห์ธุรกิจโดยดูจากผลประกอบการตามช่วงอัตรากำไรสุทธิ พบว่า ช่วงอัตรากำไรสุทธิ 0-5% คิดเป็น 24% ช่วงอัตรากำไรสุทธิ 5-10% คิดเป็น 18% ช่วงอัตรากำไรสุทธิ 10-20% คิดเป็น 19% ช่วงอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 20% คิดเป็น 21% ของประเภทธุรกิจทั้งหมด

และสำหรับงบการเงินรอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2560 นิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินประมาณ 620,000 ราย มีระยะเวลาการจัดส่งจนถึง 31 พฤษภาคม 2560 ซึ่งกรมฯ ได้พัฒนาระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DBD e-Filing ตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2559 ยังคงมีภาคธุรกิจเพียง 10% ที่จัดส่งงบการเงินในรูปแบบกระดาษ การส่งงบการเงิน ปี 2560 กรมฯ จึงขอความร่วมมือให้นิติบุคคลเร่งจัดทำงบการเงิน โดยจัดประชุมผู้ถือหุ้นและเร่งนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากจัดส่งใกล้ระยะเวลาสิ้นสุด อาจทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความหนาแน่นและเกิดความล่าช้าในการจัดส่ง อีกทั้งการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็วจะส่งผลดีต่อการประมวลผลสถานะของงบการเงินของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกรรม โดยเฉพาะสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบสถานะของธุรกิจที่เป็นปัจจุบันทำให้ง่ายต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ที่กรมฯ กำหนดจะหารือร่วมกับสถาบันการเงินในการพิจารณาสินเชื่อช่องทางเร่งด่วนแก่ผู้ที่ส่งงบการเงินประจำปีโดยเร็ว สำหรับสถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจจากข้อมูลงบการเงินปี 2559 สามารถติดตามได้ในรายงาน “ข้อมูลการ จดทะเบียนนิติบุคคลประจำปี 2560” ซึ่งจะเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2561 ผ่านช่องทางต่างๆรวมถึง ในรูปแบบ e-book ในหน้าเว็บไซต์ www.dbd.go.th

การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดือนพฤศจิกายน 2560

DBD e - Registration

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เริ่มให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด) ผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) โดยการนำเทคโนโลยีมาให้บริการจดทะเบียน นิติบุคคลได้อย่างครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 26,466 ราย ได้รับการอนุมัติและเข้าไปยืนยันการใช้ระบบ (Activate) จำนวน 14,270 ราย และมีการรับจดทะเบียนนิติบุคคล ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) จำนวน 3,424 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งมีการรับจดทะเบียน จำนวน 2,908 ราย เพิ่มขึ้น 516 ราย คิดเป็น 18%

หมายเหตุ : - เริ่มเปิดให้บริการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560

- เริ่มเปิดให้บริการยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560


DBD e - Service Application

การให้บริการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล ด้วยการค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลทั่วไป งบการเงิน รายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลสมาคมการค้า และหอการค้า รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆและสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application: DBD e - Service) สามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง สถิติผู้เข้าใช้บริการระบบสะสมจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 รวมทั้งสิ้น 5,044,391 ครั้ง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 271,486 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (ม.ค.57 – ต.ค.60 = 4,772,905 ครั้ง) คิดเป็น 6% และจำนวนผู้ใช้บริการ ในเดือน มกราคม - พฤศจิกายน 2560 มีจำนวน 2,479,255 ครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,572,399 ครั้ง เพิ่มขึ้น 58%

DBD e - Filing

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและ นิติบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 มีสถิติผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 583,933 ราย แสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่และได้รับอนุมัติ จำนวน 553,482 ราย

กรมได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนให้นิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านทาง DBD e-Filing ครบ 100% โดยจะเริ่มติดตามและเชิญชวนนิติบุคคลที่นำส่งงบกระดาษ จำนวน 61,493 ราย เป็นลำดับแรกให้เข้าสู่การนำส่งผ่านระบบ DBD e-Filing ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการนำข้อมูลงบการเงินไปเผยแพร่ให้บริการได้รวดเร็วผ่านคลังข้อมูลธุรกิจและ DBD e - Service Application ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของนิติบุคคลเพื่อให้การส่งเสริมและพิจารณาการให้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจด้วย

e - Service

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารผ่านทาง Internet หรือ e-Service ในปี 2549 เพื่อการอำนวยความสะดวกในการรับเอกสารทะเบียนนิติบุคคล และงบการเงิน ให้ประชาชนทั่วไปสามารถขอเอกสารผ่านทางช่องทาง ดังนี้


- ช่องทางการชำระเงิน ได้แก่ Internet Banking / ตู้ ATM / เคาน์เตอร์ธนาคาร

- ช่องทางการรับเอกสาร ได้แก่ Walk in / EMS / Delivery

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 มีผู้ใช้บริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารทั่วประเทศ จำนวน 170,305 ราย คิดเป็น กรุงเทพฯ 80% และส่วนภูมิภาค 20% โดยมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559 แบ่งเป็นช่องทางการจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) คิดเป็น 51% รองลงมา Walk in คิดเป็น 33% และ Delivery คิดเป็น 16%

e - Certificate

กรมได้เปิดให้บริการออกหนังสือรับรองและรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ผ่านธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2555 โดยให้บริการผ่านธนาคาร 7 ธนาคาร ได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต และมิซูโฮ มีสาขารวมกันทั้งสิ้น จำนวน 4,133 สาขา โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการจำนวน 17,037 ราย ให้บริการหนังสือรับรองจำนวน 16,075 ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสารจำนวน 8,017 แผ่น

แนวโน้มการขยายตัวของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน และในปี 2560 (มกราคม –พฤศจิกายน) มีผู้ใช้บริการ 176,347 ราย เฉลี่ย 788 รายต่อวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22,251 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมและธนาคารได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์และรวมบริการ e-Certificate ควบคู่ไปกับบริการอื่นๆ ของธนาคาร ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมจะมีธนาคารเข้าร่วมการให้บริการออกหนังสือรับรองและรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ผ่านธนาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการขยายและเพิ่มช่องทางในการบริการผ่านสาขาธนาคารได้มากขึ้น
Comments