ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ลงนามร่วมมือ (MOU) กับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันสถาปนาศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT และก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 ตลอดปี 2560 SACICT ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นศูนย์กลางด้านงานหัตถศิลป์ของประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ทำงานหัตถศิลป์ ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทศิลปหัตถกรรม ผู้สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และสมาชิกของ SACICT นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า SACICT เห็นความสำคัญของวัด ซึ่งเป็นโบราณสถาน ศูนย์กลางจิตใจของชาวไทย และเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปะหัตถกรรมหลากหลายที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งหัตถกรรมบางอย่าง บางประเภท อาจจะสูญหายไปแล้วหรือกำลังจะสูญหาย และวัดยังเป็นสถานที่สะสมงานหัตถกรรมล้ำค่า ในโอกาสที่ SACICT ก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 จึงถือโอกาสนี้ลงนามความร่วมมือกับ พระอารามหลวงที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริม แนวคิด เทคนิคการเสริมสร้างชั้นสูงไปพัฒนาสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ และสืบสานมรดกล้ำค่าในคงอยู่กับสังคมไทยสืบไป ด้วยพลังสนับสนุนจากสมาชิก ผู้ทำงานหัตถศิลป์ พันธมิตร และผู้อุปการะคุณทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาของ SACICT “SACICT มุ่งมั่นจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ระดับประเทศในปี 2562 และเป็นที่รู้จัก ยอมรับในระดับสากล ในปี 2563” นางอัมพวัน กล่าว โอกาสเดียวกันนี้ ยังได้มีการร่วมลงนาม MOU ระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เพื่อให้วัดได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนงที่มาตั้งแต่ในอดีตกาลไม่ให้สูญหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัดต่างๆ จะมีทั้งงานจิตกรรมฝาผนังและมีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆไว้มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่หาดูได้ยากทั้งสิ้น |
Government >