สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดรวมพลวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง

posted Nov 22, 2019, 1:29 AM by Maturos Lophong


สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดรวมพลวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง 

ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชู “ทุนทางสังคม” ดันสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่ กับกิจกรรม “วันรวมพลวิสาหกิจชุมชน SE’ Day 2019” (Social Enterprise Day for Eco Industrial Town, Rayong) ชู “ทุนทางสังคม” เป็นเครื่องมือสร้างจุดขายวิสาหกิจชุมชน หนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ งานจัดขึ้น ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ตำบลเนินพระ จังหวัดระยอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ 

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า สมาคมเพื่อนชุมชน เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เกิดจากการรวมตัวกันของภาคอุสาหกรรมที่มีเป้าหมายสู่การอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขและยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการเพื่อนชุมชน - ธรรมศาสตร์โมเดล และร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ธนาคารออมสิน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 รุ่นที่ 1 จนถึงปัจจุบันรุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 รวมทั้งหมด 38 กลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครือข่ายที่ยังต้องพัฒนาและส่งเสริมอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของสมาคมเพื่อนชุมชน มีการใช้ “ทุนทางสังคม” เป็นเครื่องมือในการพัฒนา เช่น ทุนมนุษย์ปราชญ์ชุมชน ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชุมชนมี นำมาผสมผสานกับความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผ่านกระบวนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 

1. ขั้นพื้นฐาน คือ การให้ผู้เชี่ยวชาญเตรียมกลุ่มและวิเคราะห์ศักยภาพเบื้องต้น แล้วนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำบัญชีต้นทุนการผลิตและทำการตลาด

2. ขั้นก้าวหน้า คือ การให้ผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่ม ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมแบบค้นหา คนรู้ คนแสดง คนสนับสนุน ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางสมาคมได้เชิญนักพัฒนาจากสถาบันวิจัยและวิทยาศาสตร์หรือ วว. มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐานต่าง ๆ



3. ขั้นสร้างเครือข่าย คือ การเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้ง On line & Off Line และเพิ่มการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก 

4. ขั้นขยายผล แบบ Show & Share & Tourism คือ การแบ่งปันประสบการณ์ ส่งประกวดผลงาน และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ นำไปสู่การท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการมีรายได้อย่างมั่นคงของชุมชน

ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การจัดงาน “วันรวมพลวิสาหกิจชุมชน SE’ Day 2019” (Social Enterprise Day for Eco Industrial Town, Rayong) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่จะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับอุตสาหกรรม อย่างมีความสุขที่ยั่งยืน 

ด้าน นายวิชัย ล้ำสุทธิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและชุมชนเชิงนิเวศของสมาคมเพื่อนชุมชน มีการจัดหาทีมนักพัฒนาทางสังคม เข้ามาช่วยค้นหาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ดึงวัฒนธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างจุดแข็งให้เป็นจุดขาย จนเกิดกระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนหลายกลุ่ม เช่น การค้นหาอัตลักษณ์ สวน-ป่า-นา-เล ของเทศบาลตำบลเนินพระ และการพัฒนาข้าวตันละ 2 ล้าน จากแปลงนาผืนสุดท้ายในชุมชนเกาะกก เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การดึงเอาวัฒนธรรม และการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมีคุณธรรม ตามหลักวิชาการ ทำด้วยความจริงใจ ทำอย่างมีความอดทนและความเพียร โดยเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองจริยธรรมอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงถือเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถขยายให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง และภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป นายวิชัย กล่าว 


ภายในงาน “วันรวมพลวิสาหกิจชุมชน SE’ Day 2019” มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 

การบรรยายกลยุทธในการขาย “ขายดี ขายดัง ขายให้ปัง...ทำอย่างไร” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น การขอ อย. จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง

 การให้คำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง การให้คำแนะนำเรื่องการจดวิสาหกิจชุมชน โดยเกษตรอำเภอเมืองระยอง

 และการให้คำปรึกษาด้านการเงิน จากธนาคารออมสิน เป็นต้น งานจัดขึ้น ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ตำบลเนินพระ จังหวัดระยอง เมื่อเร็ว ๆ นี้
Comments